Community & Temple Home > Community & Temple

วัดไทยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เรียบเรียงโดย นางสาวพัทธ์ธีรา รื่นพิทักษ์

นักพัฒนาระบบราชการปฏิบัติการ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น

1. วัดศรีนครินทรวราราม (Wat Srinagarindravararam) (wat-srinagarin.ch)

วัดศรีนครินทรวรารามเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นวัดสาขาของวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ได้รับพระราชทานนามเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2536 (ค.ศ.1993) วัดศรีนครินทรวรารามตั้งอยู่ในเขตกึ่งอุตสาหกรรมกึ่งที่พักอาศัย ของหมู่บ้านเกรทเซ่นบาค (Gretzenbach) รัฐโซโลธูร์น (Solothurn) ซึ่งอยู่ใจกลางประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ทางตอนเหนือ วัดแห่งนี้มีพื้นที่ 3,401 ตารางเมตร (2 ไร่เศษ) อยู่ห่างจากนครซูริก (Zurich) ประมาณ 50 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเบิร์น (Bern) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ ประมาณ 70 กิโลเมตร

เดิมวัดศรีนครินทรวรารามมีชื่อว่า “วัดไทยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์” (โดยใช้ชื่อสมาคมวัดไทยเป็นชื่อของวัดเป็นการชั่วคราว) ซึ่งเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นในรูปแบบของ “สมาคมวัดไทย” เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) โดยอาศัยสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทย ณ นครซูริก เป็นที่ทำการสมาคม มีอดีตกงสุลกิตติมศักดิ์ คือ นายเฮนรี่ สไตเนอร์(Henry Steiner) เป็นประธานสมาคมคนแรก การก่อตั้งสมาคมวัดไทยขึ้นนั้น กงสุลสไตเนอร์ในฐานะประธานสมาคมพร้อมด้วยคณะกรรมการได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ คือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อทรงทราบถึงความเป็นไปทุกประการ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงสนพระทัยในการปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์ เป็นอย่างมาก และเมื่อ พ.ศ. 2533 (ค.ศ.1990) ขณะพระองค์ท่านทรงมีพระชนมายุ 90 พรรษา ได้เสด็จไปทรงพักผ่อนที่สวิตเซอร์แลนด์ และพระราชทานพระราชทรัพย์แด่วัดไทยเป็น จำนวน 236,964 สวิสฟรังก์ เพื่ออุปถัมภ์บำรุงวัดไทยเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 (ค.ศ.1990) ดังนั้นเมื่อคำนึงถึงพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านแล้ว พระราชกิตติโมลี (ขณะนั้นเป็นพระสิริวุฒิเมธี) เจ้าอาวาสและคณะกรรมการสมาคมวัดไทยจึงได้เสนอขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้วัดนี้เป็นวัดเฉลิมพระเกียรติของพระองค์ท่าน โดยได้รับพระราชทานนามว่า “วัดศรีนครินทรวราราม” เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 (ค.ศ.1993) นอกจากนี้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ยังได้พระราชทานพระราชานุญาตให้คณะกรรมการสมาคมวัดไทยจดทะเบียนตั้ง “มูลนิธิสมเด็จย่าเพื่อวัดศรีนครินทรวราราม” (เดิมเรียกว่า “มูลนิธิสมเด็จย่าเพื่อวัดไทย”) โดยมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Somdetya's Foundation for Wat Srinagarindravararam” และภาษาเยอรมันว่า “Somdetyas Stiftung für Wat Srinagarindravararam” อีกด้วย

หลังจากสมเด็จย่าเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ทางวัดได้จัดบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานสัตมวาร อุทิศถวายเป็นพระราชกุศลทั้งในวาระทำบุญ 50 วันและ 100 วัน และในปีถัดมา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานประกอบพิธีเปิด อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2539 โดยมีการสร้างพระอุโบสถบนศาลาเอนกประสงค์ ซึ่งพระอุโบสถดังกล่าวทำให้วัดแห่งนี้มีองค์ประกอบครบสำหรับการเป็นวัด ศาลาเอนกประสงค์นี้ชั้นบนเป็นอุโบสถ ชั้นล่างเป็นห้องประชุม สามารถรองรับผู้ไปปฏิบัติกิจทางศาสนาได้ทุกโอกาส โดยดัดแปลงเป็นห้องเรียน 4 ห้อง กั้นด้วยผนังเลื่อน มีห้องครัว ห้องเก็บของ ห้องเตรียมอาหาร ซึ่งได้ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมสำหรับพุทธศาสนิกชน อาทิ การจัดการเรียนการสอนวิชาการด้านธรรมะให้แก่เยาวชน และการจัดค่ายธรรมะเยาวชน รวมทั้ง การสอนภาษาไทยและศิลปวัฒนธรรมไทยในทุกวันอาทิตย์

อุโบสถวัดศรีนครินทรวราราม

พระเทพกิตติโมลี (พระ ดร.มหาทองสูรย์ สุริยโชโต ป.ธ.8) เจ้าอาวาสวัดศรีนครินทรวราราม พ.ศ. 2533 - ปัจจุบัน

2.วัดพุทธวิหารเอชาลองส์ (Wat Buddhavihara Echallens) (http://www.buddhadham.com)

วัดพุทธวิหารเอชาลองส์ เป็นวัดเทิดพระเกียรติสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา และเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี วัดพุทธวิหารฯ เดิมชื่อ สำนักสงฆ์ไทยเมืองเจนีวา ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปว่า “วัดไทยกรุงเจนีวา” ได้ก่อตั้งขึ้นในรูปแบบของ “สมาคมพุทธธรรม” เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2541ในอดีต พุทธศาสนิกชนชาวไทยหรือแม้แต่ชาวลาวและกัมพูชา ทีอาศัยอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ใช้ภาษา

ฝรั่งเศสจำเป็นต้องต้องเดินทางไปบำเพ็ญกุศลในส่วนอื่นๆ ของประเทศ ชาวไทยกลุ่มหนึ่งที่พำนักอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาเป็นเวลานานจึงได้ร่วมใจกันสร้างวัดดังกล่างนี้ขึ้น โดยประสงค์ให้ตั้งอยู่ในส่วนของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส คือ นครเจนีวา ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองโลซานน์ รัฐโวด์ โดยมีหม่อมเจ้าภุมรีภิรมย์ ยุคล ดำรงตำแหน่งประธานสมาคม และให้การสนับสนุนช่วยเหลือกิจการต่าง ๆ ของสมาคมอย่างแข็งขันมาโดยตลอด

การร่วมกันสร้างวัดดังกล่าวขึ้นนั้น มีตัวแทนของกลุ่มชาวไทยนำเรื่องเข้าปรึกษากับ ดร.พระมหาสุทิน ปณฺฑิโต (ทองเชื้อ) พระภิกษุจากวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ขณะที่ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่วัดศรีนครินทราวราราม และเป็นรองประธานสมาคมวัดไทยกุสินารา ประเทศอินเดีย และเป็นคณะกรรมการดำเนินการจัดสร้างวัดไทยกุสินาราในเวลานั้น รวมถึงได้ปรึกษากับหม่อมเจ้าภุมรีภิรมย์ ยุคล ในเรื่องการจัดตั้งสมาคม พร้อมทั้งได้เรียนเชิญท่านเป็นประธานสมาคม คณะกรรมการจึงได้ดำเนินการจัดตั้งสมาคมโดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 (ค.ศ.1998) มีชื่อว่า “สมาคมพุทธธรรม” ‘BUDDHADHAM ASSOCIATION’โดยมีวัตถุประสงค์ของสมาคม ได้แก่

1. เพื่อสร้างวัดถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และรำลึกถึงพระราชประวัติอันงดงามของพระองค์

2. เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่ประชาชนผู้ให้ความสนใจ

3. เพื่อเสริมสร้างสามัคคีธรรมให้เกิดในหมู่พุทธศาสนิกชน ทั้งชาวไทย ลาว กัมพูชา และชาวต่างชาติที่นับถือพระพุทธศาสนา

4. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้บำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และพบปะสังสรรค์สนทนาธรรม

5. เพื่อเป็นการเผยแพร่และแสดงออกซึ่งประเพณี วัฒนธรรม อันดีงามของพุทธศาสนิกชนไทย

วัดพุทธวิหารเอชาลองส์มีอาคารสองหลัง โดยตัวอาคารใหญ่ปรับปรุงเป็นที่พักพระสงฆ์ในชั้นที่สาม และห้องพักชั้นสองเป็นที่พักของผู้ที่มาปฎิบัติธรรม และชั้นล่างเป็นที่บำเพ็ญกุศล และมีห้องพระสำหรับสวดมนต์และทำพิธีทางศาสนา

อาคารหลังที่สองได้บูรณะจากโรงเลี้ยงวัวและไก่เป็นศาลาปฏิบัติธรรม รวมถึงเป็นโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์สำหรับเยาวชน และพุทธศาสนิกชนที่สนใจ

วัดพุทธวิหารเอชาลองส์ตั้งอยู่ในเขตที่พักอาศัยของหมู่บ้านเอชาลองส์(Ecchallens) เมืองโลซานน์(Lausanne) รัฐโวด์อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ห่างจากนครเจนีวา(Geneva) ประมาณ 70 กิโลเมตรห่างจากกรุงเบิร์น(Bern) ทางหลวงสายเก่าประมาณ 110 กิโลเมตรทางหลวงสายใหม่ประมาณ 80 กิโลเมตร การคมนาคมสะดวกทั้งทางรถยนต์และทางรถไฟ

3. วัดธรรมปาละ (Wat Dhammapala) (www.dhammapala.ch)

วัดธรรมปาละเป็นวัดเครือข่ายของวัดหนองป่าพงซึ่งเป็นวัดป่าสายปฏิบัติในจังหวัดอุบลราชธานี โดยวัดธรรมปาละได้มีแรงบันดาลใจในการก่อตั้งเช่นเดียวกันกับวัดหนองป่าพงเพื่อเป็นสถานที่สำหรับประพฤติปฏิบัติ ฝึกฝน และอบรมพระภิกษุ-สามเณรผู้มุ่งสู่ความพ้นทุกข์ให้เป็นผู้มักน้อย สันโดษ เสียสละ พากเพียรเพื่อมรรคผลนิพพาน และนำพาไปสู่การเป็นสมณะที่งดงาม ด้วยการรักษาวัตรปฏิบัติตามธรรมวินัย อันจะเป็นเหตุให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น ร่วมประคองค้ำชูพระศาสนาให้มีอายุยืนยาว เจริญรุ่งเรือง กระทั่งต่อมาได้เป็นศูนย์กลางการอบรมสั่งสอนตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา ให้กับนักปฎิบัติธรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจนเป็นแรงศรัทธาเกิดสาขาขยายไปยังประเทศทั่วโลก และได้มีสาขาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ กรุงเบิร์น เจ้าอาวาสคนแรกคือพระอาจารย์ถิรธัมโม เป็นชาวแคนาดา ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้สนใจพุทธศาสนาชาวสวิสและชาวเยอรมันที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้าได้ร่วมแรงร่วมใจก่อตั้งวัดในปี พ.ศ. 2534 (ค.ศ.1991) และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณบริจาคพระราชทรัพย์เป็นทุนก่อตั้งวัดธรรมปาละ ในวโรกาสพระชนมายุครบ 90 พรรษา ปัจจุบันมีพระอาจารย์เขมะสิริเป็นเจ้าอาวาส (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 (ค.ศ.2005))

(ที่อยู่ : Kloster am Waldrand, Bütschelsstrasse 74, CH-3718 Kandersteg, Switzerland)ภาพแสดงที่ตั้งของวัดธรรมปาละวัดธรรมปาละ ซึ่งเดิมตั้งอยู่ในเมืองโคโนลฟิงเกน (Konolfingen) กรุงเบิร์น และย้ายมาที่ปัจจุบันในหมู่บ้านเคนเดอสแตก (Kendersteg) เมืองอินเตอร์ลาเคน

วัดธรรมปาละในหมู่บ้านเคนเดอสแตก หุบเขาคานเดอร์ บรรยากาศเปรียบดั่งอนุสสติที่ว่างเปล่าและเยือกเย็น ก่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายและสบายใจของผู้ที่มาปฎิบัติธรรม

เจ้าอาวาสแห่งวัดธรรมปาละ พระอาจารย์เขมะสิริ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ บริจากพระราชทรัพย์เป็นทุนก่อตั้งวัดธรรมปาละ ในวโรกาสพระชนมายุครบ 90 พรรษา เป็นทุนก่อตั้งวัดธรรมปาละ

4. วัดพุทธเจนีวา (Wat Buddha Geneva)

เมื่อต้นปี พ.ศ. 2551 วัดพุทธเจนีวา ได้ก่อตั้งขึ้นภายใต้การทำงานของสมาคม Dhammakaya International Meditation Association จดทะเบียนขึ้นกับหอการค้าเจนีวา มีสำนักงานตั้งอยู่ที่เมือง Versoix แต่สถานที่ตั้งของวัดและที่พักอาศัยของพระสงฆ์จะอยู่ในเมือง Bellevue มีพระวิชิต ผาสุกวาโส พรรษา 16 เป็นเจ้าอาวาส และมีตำแหน่งเป็นเหรัญญิกของสมาคม

สมาคมนี้จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักสำคัญคือเพื่อสอนสมาธิให้ผู้สนใจทุกคนโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา บนพื้นฐานของศีลธรรมอันดี ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา และมุ่งเน้นการนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมในกลุ่มคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองเจนีวา ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก และในกลุ่มคนไทยที่รักการนั่งสมาธิทั้งในเมืองเจนีวาและเมืองต่าง ๆ ทั่วสวิตเซอร์แลนด์

วัดพุทธเจนีวามีคำขวัญว่า “วัดพุทธเจนีวา บุญสถานเพื่อการปฏิบัติธรรม” ดังนั้น การจัดกิจกรรมงานบุญต่างๆจึงสอดคล้องกับคำขวัญที่มุ่งเน้นเรื่องการปฏิบัติธรรมและนั่งสมาธิเจริญภาวนา เป็นพื้นฐาน เพื่อฝึกฝนใจของผู้เข้าวัดให้เกิดความสงบระงับจากความทุกข์ความเดือดร้อนใจอันเกิดจากอำนาจกิเลส ก่อให้เกิดพลังใจในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข วัดพุทธเจนีวายังให้ความสำคัญกับการจัดสถานที่ กิจกรรม และการสอนธรรมะ ซึ่งล้วนสอดคล้องกับคำขวัญดังกล่าว โดยมุ่งเน้นที่ความสงบและความเป็นระเบียบตามวิถีพุทธ เพื่อก่อเกิดเป็นสงบขึ้นในใจ ผู้มาร่วมกิจกรรมได้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสต่อพระรัตนตรัย

ภาพวัดพุทธเจนีวา

ข้อมูลอ้างอิง

  • บทความเรื่อง "พระอารามหลวง" จาก http://www.dhammathai.org/watthai/royalwat.php วันที่ 15 สิงหาคม 2553

  • ประวัติวัดศรีนครินทราวราราม พิมพ์เนื่องในงานยกช่อฟ้า ฝังลูกนิมิต ผูกสีมา ฉลองอาคารอุโบสถและศาลาเอนกประสงค์ วัดศรีนครินทรวราราม 2546

  • 10 ปี อนุสรณ์โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดศรีนครอนทราวราราม (พอ.ศ) 2550

  • สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกับวัดศรีนครินทรวราราม พระราชานุสสรณีย์ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 2539

  • สมเด็จพระพุทธชินวงศ์กับวัดศรีนครินทรวราราม พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศล งานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ 2538

  • วารสารวัดธรรมปาละฉบับเดือนธันวาคม 2553 โดยพระอาจารย์เขมะศิริ

  • ข้อมูลภาพและข้อมูลวัดธรรมปาละจากนางสาว Magrit Gertsch วันที่ 27 สิงหาคม 2553

  • บทความประวัติวัดพุทธวิหารเอชาลองส์ จาก http://www.buddhadham.ch/jour_th.htm วันที่ 8 สิงหาคม 2553

  • ประวัติวัดพุทธเจนีวา โดยพระวิชิต ผาสุกวาโส วันที่ 18 สิงหาคม 2553

สัมภาษณ์

  • สัมภาษณ์ข้อมูลวัดพุทธวิหารเอชาลองส์ จาก พระครูบัณฑิตธรรมวิเทศ พระครูสังฆรักษ์สมชัยพระครูไพบูลสรกิจ และพระมหาไพฑูลย์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2553