Thailand-Switzerland Relations Home > Thailand-Switzerland Relations

ความสัมพันธ์ราชอาณาจักรไทย - สมาพันธรัฐสวิส (สวิตเซอร์แลนด์)

ความสัมพันธ์ทั่วไป      

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสวิตเซอร์แลนด์ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสวิตเซอร์แลนด์ในปี 2440 ต่อมา เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2474 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามย่อในสนธิสัญญาไมตรีและการค้า ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น วันดังกล่าวจึงถือเป็นวันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสมาพันธรัฐสวิส (ทั้งนี้ มีการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว ฉบับเต็ม เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2474)

สำหรับสำนักงานของไทยในสวิตเซอร์แลนด์ นั้น เดิมสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส มีเขตอาณาครอบคลุมสวิตเซอร์แลนด์        จนกระทั่งปี 2491 รัฐบาลไทยได้จัดตั้งสถานราชทูตไทย ณ กรุงเบิร์น ขึ้น โดยมีหลวงดิฐการภักดี (จรูญ บุญยรัตพันธ์) ดำรงตำแหน่งอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น คนแรก และต่อมาได้ยกระดับเป็นสถานเอกอัครราชทูตในปี 2502 เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น คนปัจจุบัน ได้แก่ นายจิตติพัฒน์ ทองประเสริฐ นอกจากนี้ ไทยยังมีคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา โดยมีนางสุพัตรา   ศรีไมตรีพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา รวมทั้งมีคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก โดยมีนางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

นอกจากนี้ ไทยยังมีสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์อีก 3 แห่ง โดยนาย Thomas Burckhardt ดำรงตำแหน่ง กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำเมืองบาเซิล และ นาย Markus Albert Frey ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำนครซูริก ส่วนสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ          นครเจนีวา ขณะนี้ปิดทำการชั่วคราว (จนกว่าจะมีผู้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์คนใหม่)

ในส่วนของสวิตเซอร์แลนด์ นาย Pedro Zwahlen ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2565 นอกจากนี้ รัฐบาลสวิสยังได้แต่งตั้งให้ (1) นาย Marc-Henri Dumur ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์สมาพันธรัฐสวิส ณ จังหวัดเชียงใหม่ (2) นาง Andrea Eva Kotas Tammathin ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์สมาพันธรัฐสวิส ณ จังหวัดภูเก็ต และ (3) นาง Esther Kaufmann อยู่ระหว่างการดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์สมาพันธรัฐสวิส ณ จังหวัดชลบุรี

ความสัมพันธ์ทางการเมือง

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสวิตเซอร์แลนด์เป็นไปอย่างราบรื่น โดยครบรอบ 90 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อปี 2564 ในโอกาสดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น สถานเอกอัครราชทูตสวิสประจำประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสมาคม/ชมรมต่าง ๆ ได้จัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองทั้งในไทย ในสวิตฯ และทางออนไลน์ เช่น การประกวดวาดภาพสำหรับเยาวชน การประกวดภาพถ่าย การแสดงดนตรีออนไลน์ และกิจกรรมเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติมิตรภาพไทย-สวิส เป็นต้น

กลไกการหารือทวิภาคีประกอบด้วย (1) การประชุมหารือทางการเมือง (Political Consultation) ในระดับรองปลัด/ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีการจัดการประชุมภายใต้กรอบดังกล่าวแล้ว 5 ครั้ง ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ที่กรุงเทพฯ และ (2) การประชุมหารือด้านการกงสุล (Consular Consultation) ซึ่งได้จัดการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ที่กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอทั้งในระดับราชวงศ์และรัฐบาล ประกอบกับสวิตเซอร์แลนด์เป็นสถานที่หลักในการจัดการประชุมระหว่างประเทศภายใต้กรอบองค์การสหประชาชาติ จึงมีคณะผู้แทนไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

การค้า

ในปี 2564 สมาพันธรัฐสวิสเป็นคู่ค้าอันดับที่ 20 ของไทย เป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในยุโรปรองจากเยอรมัน และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ในกลุ่ม EFTA (ประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) การค้ารวมไทย – สวิสมีมูลค่า 6,568 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยขาดดุลการค้า 3,749 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปสวิตเซอร์แลนด์ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์ถนอมผิว และสินค้านำเข้าที่สำคัญจากสมาพันธรัฐสวิส ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์

การลงทุน

สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่จากยุโรปในประเทศไทย โดยนาย Albert Jucker เป็นชาวสวิสคนแรกที่เข้ามาทำงานที่ประเทศไทยเมื่อปี 2409 และเมื่อปี 2425 ได้ก่อตั้งบริษัท Jucker & Sigg & Co (กลายมาเป็น บริษัท Berli Jucker ในปัจจุบัน) ซึ่งถือเป็นบริษัทสวิสบริษัทแรกที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย  ปัจจุบัน มีบริษัทสวิสกว่า 150 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจในไทย โดยเป็นบริษัทชั้นนำในสาขาต่าง ๆ อาทิ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนนาฬิกา อาหาร การเงิน สินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีมูลค่าการลงทุนรวม 1,430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัทไทยที่มาลงทุนในสวิตเซอร์แลนด์ประกอบด้วยบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับนาฬิกา วัสดุที่มีคุณสมบัติขั้นสูง (advanced materials) และห้างสรรพสินค้า (Globus)

การท่องเที่ยว

ในปี 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวสวิสเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศไทยจำนวน 111,429 คน โดยประเทศไทยได้รับความนิยมในฐานะเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะไกลอันดับ 2 ของนักท่องเที่ยวชาวสวิสรองจากสหรัฐอเมริกา ส่วนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 2562 มีจำนวน 147,256 คน

ความสัมพันธ์ในระดับประชาชน

ปัจจุบัน มีคนไทยพำนักอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ประมาณ 36,000 คน ส่วนใหญ่เป็นสตรีไทยที่สมรสกับชาวสวิส ประกอบอาชีพแม่บ้าน หรือเปิดร้านอาหารไทย มีวัดไทยในสวิตเซอร์แลนด์ 5 แห่ง ได้แก่ วัดศรีนครินทรวราราม เมืองเกรทเซนบาค รัฐโซโลทูร์น วัดพุทธวิหารเอชาลองส์ เมืองเอชาลองส์ รัฐโวด์ วัดธรรมปาละ เมืองเคนเดอสแตก รัฐเบิร์น วัดไทยตีชิโน (สาขาวัดศรีนครินทร
วราราม วัดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่าฯ) เมืองกวาร์ติโน รัฐตีชิโน และวัดพระธรรมกายสวิตเซอร์แลนด์ เมืองอาร์นี่ รัฐเบิร์น และมีแนวโน้มจะจัดตั้งเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีสมาคมไทย 22 สมาคม มูลนิธิ 1 แห่ง (มูลนิธิสมเด็จย่าเพื่อวัดศรีนครินทรวราราม) ร้านอาหารไทยและร้านขายสินค้าไทย ประมาณ 200 แห่ง และร้านนวดไทยและสปาไทยที่มีคนไทยเป็นเจ้าของกว่า 100 แห่ง

ความร่วมมือด้านการศึกษา

สวิตเซอร์แลนด์มีความสามารถทางด้านการแข่งขันเป็นอันดับต้นของโลก โดยมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านการศึกษาและการวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งไทยได้มีความร่วมมือด้านวิชาการกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสวิตเซอร์แลนด์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในสาขาที่ฝ่ายสวิสมีความเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ เกือบทุกปีจะมีนักศึกษาไทยมาเรียนที่สถาบันการศึกษาด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับโลก

ปัจจุบัน มีนักเรียนทุนรัฐบาลไทยศึกษาอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ประมาณ 10 คน อีกทั้ง สมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ยังได้ให้ทุนนักเรียน มาศึกษาที่สวิตเซอร์แลนด์ในสาขา          เช่น การเกษตร การโรงแรมและการท่องเที่ยว รวมถึงมาฝึกอบรมด้านเครื่องกลและการผลิตนาฬิกา เป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา

ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนาง Simonetta Sommaruga รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม คมนาคม พลังงาน และสารสนเทศ ได้ลงนามในข้อตกลงดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีส ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ดำเนินโครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชนเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถร่วมบริการ) ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการดำเนินโครงการตั้งแต่ พ.ศ. 2564 – 2573 (ค.ศ. 2021-2030) ให้แก่มูลนิธิ KLiK (The  Foundation for Climate Protection  and Carbon Offset) ของสมาพันธรัฐสวิส โดยโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศครั้งแรกของไทย ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดฝุ่น PM 2.5 ด้วย

ความร่วมมือในกรอบอาเซียน

สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศคู่เจรจาเฉพาะสาขา (Sectoral Dialogue Partner) ของอาเซียน ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2559 โดยทั้งสองฝ่ายได้จัดทำเอกสาร ASEAN-Switzerland Sectoral Dialogue Partnership: Practical Cooperation Areas (PCA) เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ ที่มีความสนใจร่วมกันโดยฉบับปัจจุบัน (PCA 2022-2026) เป็นฉบับที่ 2

นอกจากนี้ สมาพันธรัฐสวิสยังเป็นหนึ่งในประเทศหุ้นส่วนของศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศไทยอีกด้วย

 

* * * * * * *

(ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2566)